Thai Language English Language

วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555

Health Life 2 You - สารอาหาร 14. เมลาโทนิน สารต้านมะเร็ง

14. เมลาโทนิน  ( Melatonin )

       เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายของเราผลิตขึ้นมาเอง ฮอร์โมนนี้หลั่งออกมาเพื่อให้เรารู้สึกง่วงและนอนหลับสบายในตอนกลางคืน

       รายงานการศึกษาบางเรื่องพบว่าเมลาโทนินเป็นแอนติออกซิแดนซ์ที่ทรงประสิทธิภาพ ยับยั้งการทำงานของฟรีแรติคัล ช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง เช่น มะเร็งปอด มะเร็งระบบทางเดินอาหาร และยังช่วยกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่คอยจัดการเซลล์มะเร็ง

      อาหารเพิ่มเมลาโทนิน เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าว ข้าวโพดหวาน กล้วย มะเขือเทศ ขิง ถั่วเหลือง เมล็ดฟักทอง เต้าหู้ ถั่วลิสง ฯลฯ

      เมลาโทนิน (Melatonin) เป็นชื่อสารเคมีในรูปของอาหารเสริม หรือ ยา ที่มีการกล่าวขวัญถึงมากที่สุดตัวหนึ่งในยุคปัจจุบัน มีการกล่าวอ้างว่าสามารถใช้เพื่อรักษาภาวะความเจ็บป่วยอย่างหลากหลาย เช่น เป็นยาช่วยให้นอนหลับได้ดี เป็นยาอายุวัฒนะให้คงความเป็นหนุ่มสาวได้นาน เป็นยารักษาโรคมะเร็ง หรือเป็นยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ข้ออ้างในสรรพคุณเหล่านี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วโลกในช่วง เวลาสั้นๆ เมลาโทนินเป็นยาวิเศษอย่างที่เชื่อนั้นหรือไม่ เป็นประเด็นที่ควรได้รับการพิจารณาโดยเฉพาะ ในยุคสื่อสารไร้พรมแดน ซึ่งมีทั้งข้อมูลที่เชื่อถือได้และไม่ได้บ้างปรากฎอยู่

    เมลาโทนิน มีชื่อทางเคมีคือ "N-acetyl-5-methoxytryptamine" จัดเป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกจากต่อมไพเนียล (pineal gland) ซึ่งอยู่ในสมองส่วน hypothalamus การหลั่งของเมลาโทนินจะมีความสัมพันธ์กับแสงที่มากระทบ กล่าวคือ แสงจะเป็นตัวยับยั้งไม่ให้มีการหลั่งเมลาโทนิน ฉะนั้นเมลาโทนินจึงหลั่งออกมามากเวลากลางคืน และจะลดการหลั่งในเวลากลางวัน การควบคุมนี้เกิดโดยแสงที่ผ่านมากระทบ retina จะทำให้เกิดสัญญาณกระตุ้น suprachiasmatic nuclei superior cranial glanglion และต่อมไพเนียลในที่สุด โดยที่ suprachiasmatic nuclei เป็นเสมือนนาฬิกาชีวิต (biological clock) เมลาโทนินจึงเปรียบเป็นสัญญาณของนาฬิกาชีวิตนั่นเอง จากการหลั่งที่เป็นจังหวะของเมลาโทนิน จึงเชื่อว่าเป็นตัวเหนี่ยวนำให้อวัยวะและเซลล์ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องกับช่วงเวลาในแต่ละวันเช่น การนอนหลับ การหลั่งของฮอร์โมนบางชนิด (ซึ่งก็มีจังหวะ เช่นเดียวกัน) อุณหภูมิในร่างกาย เป็นต้น
 
     นอกจากนี้ เมลาโทนิน ยังเป็นตัวควบคุมการเจริญเติบโต และพัฒนาการของสัตว์ในการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ในทางคลินิก ผลของเมลาโทนินในคนได้มีการศึกษาบ้างกล่าวคือ การศึกษาเทียบผล ของเมลาโทนินกับยาหลอก (placebo) ในอาสาสมัครพบว่าช่วยทำให้หลับได้เร็วและดีขึ้น ทั้งยังไม่รบกวน ต่อการนอนช่วง REM (rapid eye movement sleep) คนสูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับยาก และตื่นง่าย ก็เชื่อว่าเนื่องจากเมลาโทนินหลั่งน้อยลง การศึกษาแบบ randomized control trial พบว่า ยาเม็ดเมลาโทนิน ชนิดดูดซึมเร็ว ทำให้ผู้สูงอายุเหล่านี้หลับได้ดีขึ้น ขณะที่ชนิดดูดซึมช้าช่วยให้นอนได้ นานขึ้น การได้รับยาเป็นเวลานาน 2 เดือนก็ไม่ทำให้เกิดการดื้อต่อยา (tolerance) ขึ้น ในคนที่เดินทาง ด้วยเครื่องบินข้ามทวีป มักจะเกิดภาวะที่ร่างกายปรับเวลาไม่ทันเกิดอาการอ่อนเพลียและผิดเวลา ที่เรียกว่า "Jet lag" การใช้เมลาโทนิน พบว่าช่วยทำให้ปรับเวลานอนใหม่ และหายจากการอ่อนเพลีย ได้เร็วกว่าการใช้ยาหลอก

     นอกจากนั้น มีรายงานผู้ป่วยที่มีปัญหาการนอนหลับยาก จากภาวะตาบอดทั้ง 2 ข้างหรือเนื่องจากในต่อมไพเนียล เมลาโทนินจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ แต่ยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบ แบบ randomized control trialการศึกษาในระดับเซลล์และสัตว์ทดลองพบว่า เมลาโทนินมีฤทธิ์ทำให้เซลล์หยุดการเจริญเติบโต (cytostatic) และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน (immunostimulator) จึงมีการทดลองนำเมลาโทนินมาใช้ ในการรักษาโรคมะเร็ง โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งปอดชนิด non small cell มะเร็งระบบทางเดินอาหาร (ลำไส้ใหญ่และ ทวารหนัก) ที่ไม่ตอบสนองต่อสูตรยาปกติ (first line therapy) พบว่าเมลาโทนินขนาด 10 - 20 mg อย่างเดียว สามารถทำให้ ขนาดของมะเร็งไม่โตขึ้น ผู้ป่วยมีสภาพร่างกาย (performance status) ดีขึ้นเทียบกับการรักษาแบบประคับประคอง แต่ไม่ทำให้เกิด การยุบตัวหรือหายไปของเนื้อมะเร็ง

     การใช้ เมลาโทนิน ร่วมกับ Interleukin (IL) พบว่าสามารถเพิ่ม ประสิทธิภาพของ IL ทำให้ไม่ต้องใช้ IL ในขนาดที่สูงและลดอาการข้างเคียงจาก IL ได้ มีการศึกษา แบบไม่มีกลุ่มควบคุม (non control trial) และ control trial ขนาดไม่ใหญ่นัก โดยใช้เมลาโทนินร่วมกับ IL-2 ในผู้ป่วยมะเร็งปอดและระบบทางเดินอาหารที่ไม่ตอบสนองต่อ 5 - fluorouracil และ folate พบว่า ทำให้ก้อนเล็กลง (partial remission) 12% เทียบกับการรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งไม่สามารถทำให้ เกิด partial remission ได้เลย อัตรารอดชีวิตใน 1 ปีก็สูงกว่า อย่างไรก็ตามการใช้เมลาโทนินกับ โรคมะเร็งยังต้องมีการศึกษามากกว่านี้ เช่น randomized control trial ที่มีขนาดจำนวนผู้ป่วยมากกว่านี้ จึงจะสามารถสรุปได้ แน่ชัดถึงประสิทธิภาพของยาตัวนี้ทฤษฎีของการเข้าสู่วัยชรา (aging) เชื่อว่าเป็นผลลัพท์ จากปัจจัยต่างๆทั้งในแง่ของสังคม สิ่งแวดล้อม พฤติกรรมการสะสมของ oxygen free radical ปฏิกริยาทางชีวเคมีในเซลล์ และ สุดท้ายเชื่อว่าในเซลล์มีโปรแกรมให้เข้าสู่ภาวะชราเมื่อได้รับสัญญาณกระตุ้น การศึกษาพบว่าคนสูงอายุ จะมีระดับของเมลาโทนินลดลงและเนื้อเยื่อมีการตอบสนองต่อเมลาโทนินลดลง

     นอกจากนั้นยังเชื่อว่า เมลาโทนิน ป้องกันการทำลายของ DNA จาก free radicals เนื่องจาก เมลาโทนินมีฤทธิ์ต้านต่อ hydroxyl radical โดยทำหน้าที่กำจัดโดยตรงและสนับสนุนการทำลายของมันโดยผ่านเอ็นซัยม์ glutathione peroxidase และเมลาโทนินที่เปลี่ยนไปในคนชราอาจจะเป็นสัญญาณที่ส่งไปถึงเซลล์ต่างๆให้เข้าสู่ขบวน การชรา (aging) เหตุผลต่างๆ ที่กล่าวมาทำให้มีทฤษฎีที่เชื่อว่า การลดลงของเมลาโทนินคือ ที่มาของ การเข้าสู่วัยชรา หากมีการให้เมลาโทนินเข้าทดแทน อาจจะสามารถยับยั้งความชราลงได้ มีการทดลอง ขนาดเล็กในหนู พบว่าหนูที่ได้รับเมลาโทนินมีอายุยาวขึ้น

     แต่ก็มีบางการศึกษาในสัตว์ไม่ให้การสนับสนุน อย่างไรก็ตามไม่มีข้อมูลหรือการศึกษาในคนเลยในสัตว์ทดลองหลายชนิด การให้ เมลาโทนิน ก่อน สัตว์เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ (prepuberty) จะทำให้สัตว์ มีการพัฒนาทางเพศช้าลง เนื่องจากมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนของต่อมใต้สมองและ ในระดับ hypothalamus สำหรับสัตว์ที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์แล้วผลจากเมลาโทนินยังสรุปไม่ได้แน่ชัด ใน แม่กวางที่ตั้งท้องหากได้รับเมลาโทนินจะทำให้ลูกกวางที่คลอดออกมาเสียชีวิตจาก hypothermia ใน 24 ชั่วโมงแรก มากกว่ากลุ่มควบคุม โฆษณาของเมลาโทนินมักอ้างว่า เมลาโทนินทำให้แก่ช้าลงและมี ประสิทธิภาพทางเพศดีขึ้น แต่เป็นเพียงทฤษฎียังไม่มีหลักฐาน ข้อมูล หรือ การศึกษาทางคลินิกโดย เฉพาะในคนยืนยัน จึงเป็นข้ออ้างที่อาจจะเกินความเป็นจริงถึงแม้ว่าการศึกษาเกี่ยวกับเมลาโทนินที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า เมลาโทนินน่าจะมีความปลอดภัยสูงเพราะขนาดของยาที่ใช้ศึกษามีตั้งแต่ 0.05 - 40 mg ภาวะอันไม่พึงประสงค์ที่มีรายงานมีเพียงทำให้ สับสน มึนงงเท่านั้น

    แต่ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากยังไม่มีการติดตามภาวะไม่พึงประสงค์จาก เมลาโทนิน อย่างเป็นระบบก็ได้ ผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับฤดูกาล (seasonal affective disorder) เมลาโทนินอาจจะทำให้โรคมีความรุนแรงมากขึ้นจึงเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ควรระวัง ขณะเดียวกันเมลาโทนิน ที่มีขายกันในท้องตลาดนั้นเป็นรูปของอาหารเสริมไม่ใช่ยา ทำให้ไม่ถูกควบคุมมากหมือนผลิตภัณฑ์ยา จึงไม่มีเครื่องประกันถึงคุณภาพและ ความบริสุทธิ์ของยา ในทศวรรษก่อน ชาวอเมริกันมีการใช้ อาหารเสริมชนิดหนึ่งคือ 'L tryptophan" ซึ่งถือว่าเป็นกรดอะมิโนที่มีอยู่ในร่างกายเพื่อรักษาโรคต่างๆ เช่น นอนไม่หลับ ซึมเศร้า ปวดเมื่อยจากโรคไขข้อ โดยทฤษฎีแล้ว L tryptophan ควรจะเป็นอาหารเสริม ที่ปลอดภัย แต่ประมาณ 6 ปีที่แล้วมีผู้บริโภคมากกว่า 10 คนต้องเสียชีวิตและอีกกว่า 1000 คน ต้องกลายเป็นผู้เจ็บป่วยเรื้อรังจากโรคที่เรียกว่า 'Eosinophilia myalgia syndrome' การสอบสวนทาง ระบาดวิทยาพบว่าผู้ป่วยทุกคนได้บริโภค L tryptophan ที่ผลิตจากโรงงานเดียวกัน ซึ่งในที่สุดพิสูจน์ได้ ว่ามีการปนเปื้อนของสารมีพิษเข้าไปในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว กรณีนี้คงจะเป็นอุทาหรณ์ที่จะต้องคำนึงถึง คล้ายกับในกรณีของเมลาโทนินเช่นกันหากอ้างอิงถึงองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา 

   เมลาโทนิน น่าจะมีประโยชน์ในการ บำบัดภาวะความผิดปกติของการนอน และอยู่ระหว่างการศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งเท่านั้น สรรพคุณ นอกเหนือไปกว่านี้ยังไม่มีหลักฐานทาง วิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเฉพาะในคนยืนยัน เมลาโทนิน อาจจะเป็นยาวิเศษตามข้อกล่าวอ้างหรือเป็นเพียงข้อเท็จจริงจะต้องอาศัยการศึกษาอีกมากเพื่อพิสูจน์ และหากจะมีประสิทธิภาพจริงก็ควรจะต้องได้รับการควบคุมเช่นเดียวกับยารักษาโรคตัวอื่นๆ จึงจะถือ ได้ว่าเป็นยาวิเศษที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง

  - ประโยชน์ของเมลาโทนิน

    ประโยชน์ของเมลาโทนิน ตั้งแต่มีการค้นพบและยืนยันของ Dr.W.Regelson และ Dr.Pierpaoli และ งานวิจัยต่าง ๆจากประเทศต่าง ๆ ในเรื่องเมลาโทนินค้นพบว่า เราสามารถได้ประโยชน์จากฮอร์โมนตัวนี้ซึ่งในปัจจุบันมีเอกสารด้านวิทยาศาสตร์มากกว่า 4,500 ฉบับ ที่อธิบายถึงประโยชน์ของเมลาโทนิน ดังต่อไปนี้
  • ทำให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น
  • เพิ่มหน้าที่ในการกำจัดสารพิษ
  • ส่งเสริมให้นอนหลับอย่างสบาย
  • กระตุ้นความแข็งแรงของสมรรถภาพทางเพศ
  • ป้องกันและรักษาโรคมะเร็ง
  • มีผลต่อฮอร์โมนต้านความเครียด
  • ลดระดับ LDL  ในคลอเลสเตอรอล (สารไม่ดี)
  • กระตุ้นฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโต
  • กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
  • ป้องกันระบบหลอดเลือดและหัวใจ
  • ซ่อมแซมอวัยวะต่าง ๆ DNA Cell ที่ถูกทำลาย และอื่น ๆ
        อย่าง ไรก็ตามเรื่องสารสังเคราะห์เมลาโทนินก็เจอผลสะท้อนจากอันตรายที่คาดไม่ถึง และเพื่อความปลอดภัยที่ดีที่สุด คือการรักษาสุขภาพเพื่อให้ร่างกายผลิตสารเมลาโทนินโดยธรรมชาติด้วยเหตุผลนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงห้ามการขายสารเมลาโทนินสังเคราะห์ขึ้นสู่สาธารณะชน


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Facebook Themes